สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA ยันวงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาทยังเหมาะสม ครอบคลุมผู้ฝากเงิน 98% ชี้ มีการทบทวนวงเงินทุกปี ล่าสุดตัวเลขเงินฝากปี 64 ทั้งระบบโต 4.39% หรือ 15.592 ล้านล้านบาท

วันที่ 22 มีนาคม 2565 นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก กล่าวว่า ภายหลังจาก DPA มีการปรับลดวงเงินคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงินเมื่อวันที่ 11 ส.ค.64 ที่ผ่านมา ปัจจุบันตัวเลขผู้ที่ได้รับความคุ้มครองยังมีสัดส่วนครอบคลุมกว่า 98% ของผู้ฝากเงิน สะท้อนว่ามีผู้ฝากเงินที่มีเงินเกิน 1 ล้านบาท สัดส่วนเพียง 2% โดยครอบคลุมสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองทั้ง 34 แห่ง

โดยภายใต้อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น DPA มีการทบทวนวงเงินคุ้มครองทุกปี โดยยึดหลักการคุ้มครองจะต้องไม่น้อยกว่า 90% ของผู้ฝากเงินทั้งหมด รวมถึงดูการเพิ่มขึ้นของรายได้ ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนผู้ได้รับความคุ้มครองยังอยู่นระดับสูง 98% แม้ว่าวงเงินคุ้มครองจะปรับลดลงก็ตาม แต่ถือว่าวงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาทยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่ง DPA จะมีการทบทวนและปรับวงเงินตามความเหมาะสมของสถานการณ์

อย่างไรก็ดี หากดูตัวเลขสถิติเงินฝากในปี 2564 พบว่า มียอดจำนวนผู้ฝากเงินเพิ่มขึ้นเป็น 85.83 ล้านราย จากปี 2563 อยู่ที่ 82.38 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 3.45 ล้านรายคิดเป็นการเติบโต 4.19% ขณะที่ยอดเงินฝากรวมเพิ่มขึ้นเป็น 15.592 ล้านล้านบาท จากปี 2563 อยู่ที่ 14.936 ล้านล้านบาท คิดเป็นยอดเม็ดเงินฝากเพิ่มขึ้นสุทธิราว 6.56 แสนล้านบาท หรือเติบโต 4.39%

“การเติบโตของเงินฝากจะเห็นว่าเติบโตทั้งในแง่จำนวนผู้ฝากเงินและเม็ดเงิน ส่วนหนึ่งสะท้อนมาจากความกังวลในเรื่องของการฟื้นตัวเศรษฐกิจ คนยังไม่มั่นใจจึงเอาเงินมาพักไว้ ซึ่งเงินฝากไม่มีความเสี่ยง หรือบางกลุ่มเลือกลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และทองคำ ทำให้เราจะเห็นว่าเงินฝากมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้ 65 ภาพรวมเงินฝากยังคงมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีปัจจัยท้าทายค่อนข้างมาก ทั้งการระบาดของโควิด-19 การเข้ามาของผู้เล่นฟินเทครายใหม่”

นายทรงพล กล่าวต่อไปว่า สำหรับแผนกลยุทธ์ของ DPA จะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ 1.ตั้งแต่ปี 2551-2555 ก่อตั้งและสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 2.ตั้งแต่ปี 2556-2560 สร้างโครงสร้างพื้นฐานและเร่งดำเนินการ และ 3.ตั้งแต่ปี 2561-2565 การเข้าสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล (Digital DPA) ซึ่งทำหน้าที่หลักในการคุ้มครองผู้ฝากเงินภายหลังจากสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต (License) ให้ได้รับเงินภายใน 30 วัน โดยผู้ฝากเงินไม่ต้องยื่นคำร้อง ซึ่งในปี 2565 จะเป็นปีที่ DPA มีความพร้อมมากขึ้น

สำหรับความพร้อมด้านแรก คือ “ระบบ” พร้อม ด้วยการวางโครงข่ายระบบดิจิทัล เทคโนโลยี และระบบปฏิบัติการ อีกทั้งยังมีการจำลองสถานการณ์ทดสอบระบบ (Simulation) กระบวนการจ่ายคืน รูปแบบการสื่อสารกับผู้ฝาก รวมถึงการทดสอบระบบร่วมกับหน่วยงานในตาข่ายความมั่นคงทางการเงิน อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเตรียมความพร้อมการจ่ายคืนผู้ฝากอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ ทำให้มั่นใจได้ว่าทุกขั้นตอนจะไม่สะดุดในวันที่ต้องเจอกับภาวะวิกฤต

และ “คน” พร้อม แม้ว่าจะมีพนักงานเพียง 70 คน แต่ผ่านการซักซ้อมอยู่เสมอเพื่อให้ระบบพร้อมใช้งาน และคนพร้อมปฏิบัติหน้าที่ ก้าวไปให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกการเงินและเศรษฐกิจ เสริมทักษะ ความรู้ผ่านโปรแกรมแลกเปลี่ยน ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบคุ้มครองเงินฝาก อย่างธปท.และกรมบังคับคดี เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ตรงจากผู้เชี่ยวชาญ มาพัฒนากระบวนการทำงานให้สามารถช่วยเหลือประชาชนผู้ฝากได้ดียิ่งขึ้น

โดย “กองทุนคุ้มครอง” พร้อม สร้างความเข้าใจเรื่องเงินที่นำมาใช้คุ้มครองผู้ฝาก ซึ่ง DPA เก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินที่ได้รับความคุ้มครองเพื่อสะสมไว้ในกองทุนคุ้มครองเงินฝาก โดยไม่ต้องใช้เงินภาษีของประชาชนมาจ่ายคืนให้แก่ผู้ฝาก ซึ่งปัจจุบัน DPA มีเงินกองทุนสะสมอยู่ที่ 1.34 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ได้จากสถาบันการเงินนำส่งในอัตรา 0.01% ของยอดเงินฝากทั้งหมด ซึ่ง DPA จะมีการบริหารจัดการสภาพคล่องและหาผลตอบแทน โดยการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและธปท.ที่มีความมั่นคงเป็นหลัก

ท้ายที่สุด “ประชาชน” พร้อม เป็นการเตรียมประชาชนให้พร้อมรับการคุ้มครองอย่างเข้าใจและเชื่อมั่น ประชาชนผู้ฝากทุกคนเองก็เตรียมความพร้อมได้ โดยการอัพเดทข้อมูลของตัวผู้ฝากเอง ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ โดยเฉพาะที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่สามารถติดต่อได้ กับสถาบันการเงินที่มีบัญชีเงินฝาก และผูก PromptPay กับหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ฝากได้รับการคุ้มครองสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย สอดคล้องกับชีวิตยุคใหม่ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมแต่ละ Generation ผ่านช่องทางต่างๆ ของสถาบันคุ้มครองเงินฝากแล้ว DPA ยังมีข้อมูลความรู้เรื่องการคุ้มครองเงินฝาก ข้อมูลอัพเดทสถาบันการเงินและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และความรู้ด้านการเงินอื่นๆ พร้อมให้ผู้ฝากทุกคน พร้อมรับความท้าทายใหม่ๆ โดยประชาชนที่สนใจสอบถามข้อมูลคุ้มครองเงินฝาก สามารถติดต่อ DPA ได้หลายช่องทาง ได้แก่ แฟนเพจ Facebook: Line: Twitter: dpathailand Website: www.dpa.or.th และ Contact Center 1158

“การสร้างความเข้าใจให้ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับระบบคุ้มครองเงินฝากและความรู้ทางการเงินพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสิ่งเหล่านี้คือภูมิคุ้มกันที่จะช่วยลดความตื่นตระหนกให้กับประชาชนหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือปิดกิจการ นอกจากนี้ DPA ได้พัฒนาเครื่องมือที่จะให้บริการประชาชนโดยเฉพาะระบบเทคโนโลยีเพื่อรองรับการปฏิบัติงานด้านการจ่ายคืนผู้ฝากและการชำระบัญชี อีกทั้งมีการเชื่อมต่อระบบการสื่อสารเป็น Omni Channel เพื่อรวมศูนย์ข้อมูลให้สามารถตรวจสอบข้อมูล ตอบข้อซักถาม ช่วยเหลือประชาชนผู้ฝากได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย”

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance