บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกำไรปี’64 อยู่ที่กว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 30% ชี้มีรายได้จากกลุ่มธุรกิจน้ำมันเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่ม Non-Oil ปรับตัวลดลงเล็กน้อย จากผลกระทบล็อกดาวน์ทั่วประเทศกระทบกำลังซื้อ รวมถึงการเข้าไปช่วยบรรเทาภาระผู้ประกอบการแฟรนไชส์ “Cafe Amazon” ขณะที่ไตรมาสสุดท้ายกำไรดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าตามการผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย (OR) รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วานนี้ว่า ในงวดไตรมาส 4/2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ จำนวน 2,354 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 462 ล้านบาท (+24.4%) คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.20 บาท สูงกว่าไตรมาสก่อน 0.04 บาท (+25.0%) โดยมีรายได้ขายและบริการ 157,839 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในประเทศไทย และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว รวมทั้งการเดินทางกลับภูมิลำเนาของประชาชนในช่วงสิ้นปี

M-Flow ทางด่วนจ่ายอัตโนมัติ ประชาชนวิจารณ์ยับ หลังปรับหนัก 10 เท่า
รื้อระบบบำนาญประเทศไทย รับมือ “เศรษฐกิจ-สังคม” สูงวัย
เหล้าเบียร์ขึ้นราคายกแผง มีนาคม “คอทองแดง” กระอัก
ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้น สำหรับความต้องการใช้น้ำมันของโลกกำลังฟื้นตัวด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการกระจายวัคซีนที่รวดเร็วในหลายประเทศ ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกโดยเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ปัจจัยทั้งหมดข้างต้นทำให้ กลุ่มธุรกิจน้ำมัน (กลุ่มธุรกิจ Mobility) มีรายได้ขายเพิ่มขึ้น 35.4% ส่วนใหญ่เป็นผลจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น 24.1% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลและเบนซิน เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจ Non-Oil (กลุ่มธุรกิจ Lifestyle) ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 34.5% ตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น และกิจกรรมการส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณขายเพิ่มขึ้น

สำหรับกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ (กลุ่มธุรกิจ Global) มีรายได้เพิ่มขึ้น 31.3% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกลุ่มธุรกิจ Mobility และกลุ่มธุรกิจ Lifestyle เนื่องจากราคาขายผลิตภัณฑ์น้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และปริมาณการขายเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในต่างประเทศ

โดย EBITDA (กำไรจากการดำเนินงาน ก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) ในไตรมาส 4/2564 มีจำนวน 4,418 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 367 ล้านบาท (+9.1%) เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2564 โดยหลักมาจากกลุ่มธุรกิจ Lifestyle ที่เพิ่มขึ้นกว่า 46.0%

โดย EBITDA Margin ดีขึ้น ทั้งในส่วนของธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่มและธุรกิจค้าปลีกอื่น ๆ สำหรับกลุ่มธุรกิจ Mobility เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตรากำไรอ่อนตัวลงจากภาวะกดดันในการปรับราคาขายหน้าสถานีบริการในช่วงราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในระดับสูง เพื่อช่วยบรรเทาภาระภาคประชาชน กลุ่มธุรกิจ Global ปรับตัวลดลง (-23.1%) ตามกำไรขั้นต้นที่ปรับตัวลดลงใน สปป. ลาว เป็นหลัก

สำหรับภาพรวมของค่าใช้จ่ายดำเนินงานเพิ่มขึ้น (+28.9%) โดยหลักคือ ค่าใช้จ่ายที่แปรผันตามปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าโฆษณาและส่งเสริมการขาย ค่าจ้างเติมน้ำมันอากาศยาน ค่าขนส่ง เป็นต้น รวมถึงค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษา

สำหรับผลการดำเนินงานปี 2564 ของ OR มีกำไรสุทธิ จำนวน 11,474 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2,683 ล้านบาท (+30.5%) ทั้งจากรายได้ขาย และ EBITDA ที่เพิ่มขึ้น 82,995 ล้านบาท (+19.4%) และ 2,716 ล้านบาท (+15.4%) ตามลำดับ โดยภาพรวมผลการดำเนินงาน กลุ่มธุรกิจ Mobility ดีขึ้นจากกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันจะปรับลดลง 5.1%

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจ Lifestyle ปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยหลักมาจากการมาตรการในการควบคุมอย่างเข้มงวด มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศไทยในบางช่วงของปี ส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศ รวมทั้ง OR ได้ช่วยบรรเทาภาระของผู้ประกอบการ Franchisee ร้าน Cafe Amazon ทุกสาขาดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งการเพิ่มขึ้นในค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขาย

สำหรับกลุ่มธุรกิจ Global มีผลการดำเนินงานปรับตัวลดลง โดยหลักมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่มีการใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดในบางประเทศ เช่น กัมพูชาและ สปป.ลาว ทำให้ภาพรวมปริมาณขายลดลง ประกอบกับกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม OR มีผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ลดลง 867 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีผลขาดทุนจากการบริหารความเสี่ยงผลิตภัณฑ์น้ำมันจำนวนสูงโดยเฉพาะน้ำมันอากาศยานจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในระลอกแรก อีกทั้งประมาณการค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตของลูกหนี้ลดลง เนื่องจากในปี 2563 ได้ตั้งประมาณการดังกล่าวของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยสมายล์ แอร์เวย์ จำกัด ที่ได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้การพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง

ฐานะทางการเงิน ณ 31 ธันวาคม 2564 OR มีสินทรัพย์รวม 207,659 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62,680 ล้านบาท (+43.2%) จากสิ้นปี 2563 โดยหลักมาจากเงินสดสุทธิที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 53,497 ล้านบาท OR มีหนี้สินรวมจำนวน 107,787 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 724 ล้านบาท (+0.7%) สำหรับส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 99,872 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61,956 ล้านบาท (+>100%) จากการเพิ่มทุนของ OR จากการ IPO ดังกล่าวข้างต้น และกำไรสุทธิสำหรับปี 2564 จำนวน 11,474 ล้านบาท รวมทั้งมีการจ่ายเงินปันผลรวมเป็นจำนวน 4,440 ล้านบาท

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance