แบงก์-น็อนแบงก์แห่ขอไลเซนส์ปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลต่อเนื่อง ธปท.ไฟเขียวไปแล้ว 9 ราย “ไทยพาณิชย์-กสิกรไทย-กรุงศรี” มากันหมด-ไม่ตกขบวน ยอดปล่อยกู้สิ้นปี’64 ใกล้ทะลุ 3 พันล้านบาท กว่า 7 แสนคนแห่กู้ ขณะที่ “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” คาด มิ.ย.ปีนี้เริ่มเปิดให้บริการ ด้าน “เคทีซี” เร่งพัฒนาระบบเสร็จภายใน พ.ค.นี้ ฟาก “อิออน” ชิมลางทดลองปล่อยสินเชื่อ หวังสร้างความมั่นใจระบบไม่สะดุด

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการที่สนใจยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (digital personal loan) เข้ามาเพิ่มอีก 4-5 ราย

โดยปัจจุบัน ธปท.อนุมัติไปแล้ว 9 ราย คือ 1.บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด 2.บริษัท แอสเซนต์ นาโน จำกัด 3.บริษัท จีฟิน เซอร์วิสเซส (ที) จำกัด 4.บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) 5.บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด 6.บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) 7.ธนาคารกสิกรไทย 8.บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด และ 9.ธนาคารไทยพาณิชย์

“ยอดปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลคงค้าง ณ เดือน ธ.ค. 2564 อยู่ที่ 3,868 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้ที่ได้รับสินเชื่ออยู่ที่ 746,986 ราย เฉลี่ยวงเงินอยู่ที่ 5,100 บาทต่อราย โดยจากผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาต 9 ราย มี 3 ราย ยังไม่ได้เริ่มธุรกิจ เนื่องจากบางรายอยู่ระหว่างการปรับปรุงพัฒนาระบบเทคโนโลยีการให้บริการ รวมถึงบางรายก็ยังไม่ถึงกำหนดเริ่มตามแผนธุรกิจ”

นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล กล่าวว่า บริษัท อยุธยา แคปปิตอลฯ เพิ่งได้รับใบอนุญาตสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เมื่อเดือน ก.พ. 2565 โดยอยู่ระหว่างการจัดทำแผนธุรกิจ แต่คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการภายในเดือน มิ.ย.ปีนี้

รวมถึงกำลังพิจารณาดำเนินธุรกิจใน 2 รูปแบบ คือ การร่วมมือกับพันธมิตร (partnership) และดำเนินการเอง เพื่อตอบโจทย์กลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ เช่น กลุ่มอาชีพอิสระ เป็นต้น โดยการใช้ข้อมูลวิเคราะห์ และจัดลำดับความเสี่ยงในการอนุมัติสินเชื่อ (สกอริ่ง) ภายใต้ดอกเบี้ยที่ ธปท.กำหนดไว้

“ปีแรก เราคงยังไม่ได้ตั้งเป้า โดยจะเป็นการทดลองให้ลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการให้มีความคุ้นเคยในการขอสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล ตั้งแต่ขั้นแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย โดยไม่ยกเลิกกลางคัน จากนั้นพอเข้าปีที่ 2 จึงจะเริ่มมีการตั้งเป้าหมายการเติบโตทางธุรกิจ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา เราได้มีการทดลองและศึกษาเรื่องนี้มาเป็นปี โดยใช้ข้อมูลทางเลือกอื่น ๆ เช่น การใช้ข้อมูลผ่านโมบายแบงกิ้ง และอื่น ๆ”

นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจสินเชื่อบุคคล บมจ.บัตรกรุงไทย กล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการให้ทีมด้านไอทีพัฒนาโปรแกรม e-Application เพื่อให้ลูกค้าดาวน์โหลด โดยคาดว่าภายในเดือน พ.ค.นี้ น่าจะพัฒนาแล้วเสร็จ

นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร บริษัท อิออน ธนทรัพย์ (ไทยแลนด์) กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างทดลองปล่อยสินเชื่อ (pilot test) เพื่อดูผลตอบรับ ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น รวมถึงข้อจำกัดด้านต่าง ๆ เพื่อปรับโมเดลให้เหมาะสม เนื่องจากทุกอย่างอยู่บนดิจิทัลทั้งหมด จึงต้องให้แน่ใจว่ากระบวนการจะไม่สะดุด และมีประสิทธิภาพ ทำให้ยอดการปล่อยสินเชื่อในระยะแรกไม่ได้สูงมาก

ทั้งนี้ สำหรับสินเชื่อพีโลนดิจิทัล ผู้ประกอบการจะปล่อยกู้ได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อราย ชำระคืนภายใน 6 เดือน (ในช่วงโควิดมีการเพิ่มวงเงินเป็นไม่เกิน 40,000 บาท ชำระคืนภายใน 12 เดือน) รวมถึงเป็นการปล่อยกู้โดยใช้ข้อมูลทางเลือก เช่น ประวัติการชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ข้อมูลซื้อขายออนไลน์ เป็นต้น คิดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 25% ต่อปี

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance