สุนันท์ ศรีจันทรา
ตลาดหลักทรัพย์ประกาศล่วงหน้า นับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายนนี้ มาตรการกำกับการซื้อขายหุ้นที่ยกระดับความเข้มข้นจะมีผลบังคับใช้ โดยตั้งความหวังว่าจะทำให้การกำกับดูแลการซื้อขายหุ้นมีประสิทธิภาพและช่วยลดความเสี่ยงของนักลงทุนได้มากขึ้น

มาตรการกำกับการซื้อขายที่ได้รับการปรับปรุงใหม่มี 3 ระดับ โดยระดับ 1 กำหนดให้ซื้อหุ้นด้วยเงินสด หรือบัญชีแคชบาลานซ์ และห้ามนำหลักทรัพย์คำนวณเป็นวงเงินซื้อขาย

ระดับ 2 กำหนดให้ซื้อหุ้นด้วยเงินสดคำนวณเป็นวงเงินซื้อขาย และห้ามหักลบค่าชำระราคาซื้อขายหุ้นภายในวันเดียว หรือห้ามเนทเซทเทิลเมนท์

และ ระดับ 3 ที่มีความเข้มข้นสูงสุด จะพักการซื้อขายหุ้นเป็นเวลา 1 วัน แต่เมื่อเปิดการซื้อขายในวันต่อไป ฝยังคงใช้มาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 2 ต่อไป

การปรังปรุงมาตรการกำกับการซื้อขายให้เข้มข้นขึ้น เป็นผลมาจากมาตรการที่มีอยู่เดิม ไม่อาจสกัดกั้นความร้อนแรงของราคาหุ้นได้ แม้จะยกระดับความเข้มข้นสูงสุดระดับ 3 ก็ตาม โดยหุ้นร้อนแทบทั้งหมดดื้อยา

เพราะแม้จะถูกประกาศใช้มาตรการกำกับการซื้อขายซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ราคาหุ้นยังพุ่งทะยาน ทั้งที่หลายบริษัทผลประกอบการขาดทุน หลายบริษัทค่าพี/อี เรโชสูงลิบระดับหลายร้อยเท่า หรือเฉียด 1,000 เท่า โดยบริษัทไม่มีพัฒนาการใดๆ ที่มีนัยสำคัญต่อราคาหุ้น

ปี 2564 มีหุ้นที่พุ่งทะยานอย่างร้อนแรงจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของตลาดหุ้น โดยหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 100% มีจำนวนทั้งสิ้น 152 บริษัท ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 14.37%

หุ้นที่ปรับตัวขึ้นกว่า 100% จำนวน 152 บริษัท มีหลายสิบบริษัทที่ขึ้นมาอย่างไร้เหตุผล ขึ้นมาโดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ ไม่มีข่าวดีสนับสนุน และไม่สามารถหาคำอธิบายถึงราคาที่ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงได้

ตลาดหลักทรัพย์ประกาศใช้มาตรการกำกับการซื้อขายตั้งแต่ระดับ 1 ถึงระดับ 3 ซึ่งมีความเข้มข้นสูงสุด รวมแล้วประมาณ 200 ครั้ง แต่ไม่สามารถสยบหุ้นที่ราคาพุ่งขึ้นอย่างผิดปกติ โดยหุ้นหลายสิบตัวยังถูกลากขึ้นสวนมาตรการกำกับการซื้อขาย ซึ่งรวมถึงหุ้นที่ร้อนสุดขีด และปรับตัวขึ้นกว่า 1,000%

หุ้นร้อนสุดขีดที่ราคาพุ่งเกิน 1,000% ประจำปี 2564 มีทั้งหมด 4 บริษัท ประกอบด้วย หุ้นบริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ JTS ราคาปรับตัวขึ้นจาก 1.93 บาท เมื่อสิ้นปี 2563 ขึ้นมาปิดที่ 131 บาท เมื่อสิ้นปี 2564 เพิ่มขึ้น 129.07 บาท หรือเพิ่มขึ้น 6,688%

หุ้นร้อนสุดขีดอันดับ 2 คือ หุ้นบริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AEC ราคาปรับตัวขึ้นจาก 63 สตางค์ เมื่อสิ้นปี 2563 ขยับขึ้นมาที่ 19.40 บาท เมื่อสิ้นปี 2564 เพิ่มขึ้น 18.77 บาท หรือเพิ่มขึ้น 2,979%

อันดับ 3 คือหุ้น บริษัท พีเอสจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PSG ราคาปรับตัวขึ้นจาก 4 สตางค์ เมื่อสิ้นปี 2563 ขึ้นมาปิดที่ 58 สตางค์ ในสิ้นปี 2564 เพิ่มขึ้น 54 สตางค์ หรือเพิ่มขึ้น 1,350%

และหุ้นบริษัท สบายเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY ราคาปรับตัวขึ้นจาก 1.81 บาท เมื่อสิ้นปี 2563 ขึ้นมาปิดที่ 24.70 บาทในสิ้นปี 2564 เพิ่มขึ้น 22.26 สตางค์ หรือเพิ่มขึ้น 1,265%

หุ้นร้อนสุดขีดทั้ง 4 บริษัทแม้จะถูกประกาศใช้มาตรการกำกับการซื้อขายอย่างโชกโชน แต่ราคาหุ้นถูกลากขึ้นอย่างไม่สะทกสะท้านการเฝ้าจับตามองของตลาดหลักทรัพย์

โดยเฉพาะหุ้น JTS ซึ่งปัจจุบันยังลากกันไม่เลิก ราคาสร้างจุดสูงสุดใหม่ทะลุกว่า 300 บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 17,000% แล้ว เมื่อเทียบกับราคาปิดสิ้นปี 2563

ถ้าไม่ปรับปรุงมาตรการกำกับการซื้อขาย ตลาดหลักทรัพย์จะเป็นเพียงเสือกระดาษ และถูกสยบหุ้นร้อนเย้ยหยัน โดยลากราคาอย่างเย้ยฟ้าท้าดินไม่มีความยำเกรงกฎหมายแต่อย่างใด

แต่มาตรการกำกับการซื้อขายที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งถือเป็นยาที่แรงขึ้นหรือมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเพิ่มข้อกำหนดใหม่ ห้ามซื้อขาย 1 วัน สำหรับหุ้นที่ซื้อขายผิดปกติ ยังไม่อาจประเมินได้ว่าจะสามารถสยบหุ้นร้อนได้หรือไม่

เพราะในอดีต ตลาดหลักทรัพย์เคยใช้มาตรการพักการซื้อขายมากแล้ว โดยการขึ้นเครื่องหมาย “SP” พักการซื้อขายหุ้น 3 วัน หรือ 7 วัน เพื่อดับความร้อนแรงของราคาหุ้น

แต่เมื่อปลด “SP” เปิดการซื้อขายใหม่ นักลงทุนรายใหญ่ หรือเจ้ามือหุ้นก็ลากราคาหุ้นพุ่งทะยานต่อเนื่องทันที เย้ยมาตรการ ”SP” จนในที่สุด ตลาดหลักทรัพย์ต้องยอมยกธงขาวให้หุ้นปั่น ยกเลิกมาตรการแขวนป้าย “SP” พักการซื้อขายหุ้น

การนำมาตรการพักการซื้อขายหุ้น 1 วัน เป็นการปลุกผีมาตรการกำกับการซื้อขายหุ้นร้อนที่ล้มเหลวในอดีตกลับมาใช้อีก และไม่มีใครบอกได้ว่า มาตรการกำกับการซื้อขายที่ปรับปรุงใหม่จะล้มเหลวซ้ำรอยอดีตหรือไม่

และถ้าล้มเหลวซ้ำรอยอดีต ตลาดหลักทรัพย์จะคิดค้นมาตรการอะไรมากำราบหุ้นปั่นให้อยู่หมัดได้

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket