“เอสซีบี”มั่นใจทำเทนเดอร์ฉลุย เผย มีผู้ถือหุ้นแสดงความจำนงเกิน 90% เดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจสู่ยานแม่ คาดนำหุ้น“เอสซีบี เอ็กซ์”เข้าเทรด 27 เม.ย. -โอนธุรกิจกลางปีนี้ ตั้งเป้าในระยะยาวธุรกิจใหม่แพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นธุรกิจหลักแทนธนาคาร สร้างผลตอบแทนยั่งยืน
นายอาทิตย์ นันทวิทยาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่าขณะนี้มีผู้ถือหุ้นของธนาคารได้ตอบรับการทำคำเสนอซื้อหุ้น(เทนเดอร์)โดยแลกกับหุ้นของบริษัท เอสซีบี เอกซ์ (SCBX)และแสดงเจตจำนงค์ที่จะทำเทนเดอร์รวมกว่า 90% แล้วจึงเชื่อว่ากระบวนการปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัทจะสามารถทำได้ตามเงื่อนไขและกรอบระยะเวลาที่วางไว้
ทั้งนี้เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการทำเทนเดอร์คือวันที่ 18 เม.ย.ซึ่งหากได้รับอนุมัติจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)แล้ว ก็จะนำหุ้นSCBXเข้าจดทะเบียนในตลท.และเพิกถอนหุ้นของSCB ประมาณวันที่ 27 เม.ย.นี้หลังจากนั้นจะเป็นกระบวนการโอนธุรกิจตามแผนที่ได้วางไว้ คาดว่าจะขึ้นได้ประมาณกลางปีนี้
“ในวันที่ 27 เม.ย.จะเป็นวันแรกที่หุ้น SCBXจะเข้าเทรด ซึ่งภาวะการซื้อขายในวันนั้นจะกำหนดว่าหุ้นเอสซีบี เอกซ์ที่ผู้ถือหุ้นได้ทำการแลกไปแล้วจะมีมูลค่าเท่าไหร่ ขณะที่จำนวนหุ้นจะเท่าเดิม”
สำหรับนโยบายการดำเนินงานในระยะต่อไป คือการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจจาก “กลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารไทยพาณิชย์” สู่ “กลุ่มธุรกิจการเงิน เอสซีบี เอกซ์” เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ ทั้งเทคโนโลยี และพฤติกรรมของลูกค้า
นายอาทิตย์ กล่าวว่า SCBX จะเป็นบริษัทแม่ของกลุ่ม โดยมีวิสัยทัศน์ ในการเป็น “กลุ่มเทคโนโลยีทางการเงินที่น่าชื่นชมที่สุดในอาเซียน” ทำหน้าที่ในการแสวงหาโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีให้กับกลุ่มบริหารจัดการเงินทุนของกลุ่มให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ยังยืนต่อผู้ถือหุ้นในระยะยาว
สำหรับโครงสร้างธุรกิจ SCBX จะดำเนินงานภายใต้ 3 ธุรกิจหลัก คือ “กลุ่มแรก ธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์” จะยังคงเป็นแกนหลัก โดยจะมีการพัฒนาในเรื่องประสิทธิภาพให้ดีขึ้น เน้นการสร้างผลกำไร ผลตอบแทนที่สูงขึ้นเป็นหลัก
“กลุ่มที่สอง ธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยและบริการการเงินแบบดิจิทัล” ซึ่งมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก มีอัตราผลกำไรที่สูงอยู่แล้ว จะแยกออกมาจากธนาคาร เพื่อความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจ และ “กลุ่มที่สาม กลุ่มธุรกิจแพลตฟอร์มเทคโนโลยี” คาดว่าจะมีบทบาทกลายเป็นกลุ่มธุรกิจหลักในระยะยาว
นายอาทิตย์ กล่าวว่า ใน 5 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าหมายธุรกิจสินเชื่อรายย่อยและบริการการเงินแบบดิจิทัล และธุรกิจแพลตฟอร์มเทคโนโลยี 2 ธุรกิจนี้จะมีสัดส่วนรายได้รวมกันมากกว่า 30% แต่ในระยะถัดไป ธุรกิจแพลตฟอร์มเทคโนโลยี จะเติบโตกลายเป็นเป็นธุรกิจหลักแทน
ทั้งนี้การปรับโครงสร้างใหม่ครั้งนี้ ทำให้มีแนวทางธุรกิจที่ชัดเจน คล่องตัว และมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เฉพาะเจาะจงกับประเภทของธุรกิจต่างๆ ทำให้กลุ่มธุรกิจการเงินเติบโต สร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นและยั่งยืนในระยะยาวแก่ผู้ถือหุ้น
สำหรับยุทธศาสตร์ของธนาคารไทยพาณิชย์ ในปี 2565 โดยธนาคารไทยพาณิชย์ยังเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มนั้น ในปีนี้ภายใต้การเติบโตที่จำกัดของธนาคาร จึงกำหนดแนวทาง 5 ยุทธศาสตร์ ไว้ว่า จะทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นธนาคารที่ดีขึ้นกว่าเดิม เน้นคุณภาพและประสิทธิภาพมากกว่าปริมาณ คือ 1 .เน้นการปรับพอร์ตสินเชื่อให้มีผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น 2.เติบโตธุรกิจบริหารความมั่นคั่ง และนายหน้าประกันผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อขยายฐานลูกค้า
3. ขยายการปล่อยสินเชื่อดิจิทัล เพื่อลดต้นทุนบริการและเพิ่มผลตอบแทน 4,ปรับปรุงธุรกิจบางประเภท เช่น การค้าระหว่างประเทศและการบริหารเงินสดให้มีประสิทธิภาพและลดต้นทุน 5.ลดต้นทุนของธนาคารภาพรวม โดยนำระบบเทคโนโลยีมาเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานและการบริการให้กับลูกค้า
อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/business